คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของ สหภาพยุโรป (อียู) ได้เริ่มกระบวนการไต่สวน 2 เรื่องเกี่ยวกับบริษัท แอปเปิล อิงค์. บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) หลังได้รับการร้องเรียนว่าพฤติกรรมของแอปเปิลอาจเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะนำไปสู่ การผูกขาดทางธุรกิจ ที่ไม่เป็นธรรมต่อคู่แข่ง
ทั้งนี้ อียูได้เริ่มการไต่สวนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของ “แอปสโตร์” (App Store) และแพลตฟอร์มของ “แอปเปิลเพย์” (Apple Pay) ซึ่งเป็น 2 บริการสำคัญของแอปเปิล ว่าเข้าข่ายการละเมิดกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของอียูหรือไม่ โดยในส่วนของ “แอปสโตร์” นั้น เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ที่แอปเปิลนำมาใช้กับบริษัทผู้พัฒนาแอปพลิเคชันทั้งหลายที่ต้องการจำหน่ายแอปของตนผ่านร้าน “แอปสโตร์” ของแอปเปิล ขณะที่กรณีของ “แอปเปิลเพย์” เป็นการไต่สวนเกี่ยวกับเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ในการนำระบบดังกล่าวไปใช้ ซึ่งแอปเปิลถูกร้องเรียนว่าตั้งกฎเกณฑ์ในการใช้ที่ไม่เป็นธรรม และปิดกั้นผู้บริโภคจากการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ
แม้ว่าผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสามารถนำผลิตภัณฑ์ของตนเองไปจำหน่ายบน “แอปสโตร์” โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่แอปเปิลในส่วนนี้ แต่บริษัทเหล่านั้นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราระหว่าง 15-30% ให้แก่แอปเปิลเมื่อมีการซื้อแอป หรือสมัครเป็นสมาชิก หรือมีการใช้จ่ายผ่านแอป (In-app purchase) ซึ่งเป็นการจ่ายเงินจริงเพื่อซื้อความสามารถหรือคุณสมบัติพิเศษของตัวแอปพลิเคชัน อาทิ จ่ายเงินเพื่อปิดหน้าจอแสดงโฆษณา หรืออัพเกรดความสามารถของแอปพลิเคชันให้ทำงานได้มากกว่าเวอร์ชันฟรี เป็นต้น ถ้าเป็นเกม โดยเฉพาะเกมในโทรศัพท์มือถือ จะนิยมใช้ In-app purchase ในการซื้อสิ่งของมาอัพเกรดความสามารถให้กับตัวละครในเกม เช่น ซื้ออาวุธหายากที่ไม่สามารถหาได้ด้วยการเล่นเกมตามปกติ หรือซื้อของเพิ่มพลังชีวิตให้ตัวละครสามารถอยู่ในเกมได้นานขึ้น เป็นต้น การใช้จ่ายเหล่านี้ แอปเปิลเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากบริษัทเจ้าของแอปในอัตรา 30% หรือกรณีแอปที่ต้องสมัครสมาชิก แอปเปิลหักค่าสมาชิกปีแรก 30% จากนั้นจึงหัก 15% ในปีถัดไป เป็นต้น
ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันหลายรายร้องเรียนว่า กฎเกณฑ์ของแอปเปิลบีบรัดและไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต้องตั้งราคาสินค้าและเรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้าสูงขึ้นด้วย
อ่านเพิ่มเติม เอกซเรย์ปัจจัยลบทำแอปเปิลหุ้นร่วง-รายได้หลุดเป้า
“สปอทิฟาย” (Spotify) และ “โคโบ” (Kobo) เป็นบริษัทแรก ๆ ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานกำกับดูแลของอียู โดยระบุว่าแอปเปิลอาจเข้าข่ายการผูกขาดทางธุรกิจจากการกำหนดข้อจำกัดต่าง ๆ ในการซื้อเนื้อหาออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรืออี-บุ๊ก (หนังสืออิเล็กทรอนิกส์) สำหรับผู้ใช้งานโทรศัพท์ไอโฟน และแท็บเล็ตไอแพด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของแอปเปิล นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนว่าแอปเปิลปิดกั้นการแจ้งเตือนต่อผู้ใช้งาน ให้ทราบถึงช่องทางการซื้อเนื้อหาที่มีราคาต่ำกว่าหรือมีคุณภาพที่ดีกว่าในแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ด้วย
นางมาร์เกรธ เวสทาเกอร์ รองประธานบริหารฝ่ายกำกับดูแลนโยบายด้านการแข่งขันทางธุรกิจของคณะกรรมาธิการยุโรป แถลงว่า แอปเปิ้ลเข้ามามีบทบาทเป็น “ผู้ควบคุมประตู” ที่มีอำนาจในการจัดจำหน่ายแอปพลิเคชันและเนื้อหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรืออี-บุ๊ก ไปยังผู้ใช้งานไอโฟนและไอแพด ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล
“เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ากฎเกณฑ์ของแอปเปิลไม่ได้บิดเบือนการแข่งขันทางการค้า ในตลาดที่แอปเปิลเองก็เป็นผู้แข่งขันกับผู้พัฒนาแอปพลิเคชันรายอื่น อย่างเช่นในตลาดสื่อเพลง แอปเปิลมีบริการดาวน์โหลดเพลงอย่าง “แอปเปิลมิวสิค” (Apple Music) และมี“แอปเปิลบุ๊กส์” (Apple Books) สำหรับตลาดอี-บุ๊ก”
ในเดือน มี.ค. ปีที่ผ่านมา (2562) สปอทิฟาย ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพลงสตรีมมิ่งได้ยื่นเรื่องร้องเรียนว่า แอปเปิลทำให้คู่แข่งเสียเปรียบโดยการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการคอนเทนต์รายอื่นต้องเสียค่าธรรมเนียม 30% แต่แอปเปิลมิวสิคไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าว ต่อมาในเดือนมี.ค. ปีนี้ โคโบก็ได้ยื่นร้องเรียนในลักษณะเดียวกันว่า แอปเปิ้ลลดราคาอีบุ๊กและหนังสือเสียงที่ขายผ่านแอปสโตร์ลงถึง 30% เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับบริการด้านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง
คณะกรรมาธิการยุโรปยังเปิดเผยถึงการไต่สวนระบบการชำระเงิน “แอปเปิ้ลเพย์” เกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขที่อาจส่งผลต่อการบิดเบือนการแข่งขันทางการค้า รวมถึงการตัดโอกาสและทางเลือกของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและการเข้าถึงนวัตกรรมในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย โดยยกตัวอย่าง การที่แอปเปิลจำกัดการเข้าถึงฟังก์ชั่น “tap and go” บนไอโฟน อาจจะเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงทางเลือกบริการชำระเงินของลูกค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่าแอปเปิลมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายผูกขาดหรือก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจริง แอปเปิลก็อาจจะถูกอียูลงโทษตั้งแต่สั่งปิดการให้บริการ ไปจนถึงการปรับในอัตราสูงถึง 10% ของรายได้รายปี
ด้านโฆษกของแอปเปิลออกมาระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวของคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นเรื่องน่าผิดหวัง เนื่องจากการร้องเรียนเหล่านั้น “ไม่มีมูลความจริง” และเป็นการร้องเรียนของบริษัทเพียงไม่กี่รายเท่านั้น ในแถลงการณ์ของแอปเปิลระบุว่า ตลอดระยะเวลายาวนานที่บริษัทก่อตั้งมา แอปเปิลได้สร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาดที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดมากที่สุด โดยทุกอย่างที่ทำก็เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เคยกีดกันการแข่งขัน เพราะเชื่อว่าการแข่งขันจะเป็นแรงผลักดันให้บริษัทพัฒนาขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ
“เป้าหมายของเรา 2 ประการในการพัฒนาแอปสโตร์ คือการทำให้ลูกค้าของเราสามารถค้นหาและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันภายใต้สถาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจอันมหาศาลให้แก่ผู้ประกอบการและผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีและภาคภูมิใจที่หลายรายประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์มของเรา และเติบโตไปด้วยกันกับเรา เช่นเดียวกับแอปเปิลเพย์ เป็นบริการที่เยี่ยมยอดที่มอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าของเรา ให้พวกเขาได้รับมาตรฐานชั้นยอดทั้งในแง่ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย”
ทั้งนี้ แอปเปิลกำลังเผชิญกับแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลการผูกขาดทั่วโลก โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าของฝรั่งเศสได้สั่งปรับแอปเปิลเงินถึง 1,100 ล้านยูโรจากพฤติกรรมปิดกั้นการแข่งขันทางการค้า เช่นเดียวกับทางการสหรัฐที่กำลังดำเนินการไต่สวนการผูกขาดของแอปเปิล
นอกจากกรณีของแอปเปิลแล้ว อียูยังกำลังทำการไต่สวนเกี่ยวกับกรณีการผูกขาดทางธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อีกหลายรายจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงแอมะซอน เฟซบุ๊ก และกูเกิล
ข้อมูลอ้างอิง
EU launches antitrust probes into Apple’s App Store and Apple Pay
Apple faces new complaints from app makers as EU launches antitrust probes
June 18, 2020 at 08:24AM
https://ift.tt/2N5qMWI
อียูเริ่มการไต่สวน “แอปเปิล” กรณีผูกขาด-เอาเปรียบคู่แข่ง - ฐานเศรษฐกิจ
https://ift.tt/2YjfGT1
Bagikan Berita Ini
0 Response to "อียูเริ่มการไต่สวน “แอปเปิล” กรณีผูกขาด-เอาเปรียบคู่แข่ง - ฐานเศรษฐกิจ"
Post a Comment